วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เทคโนโลยีกับวาระการศึกษาแห่งชาติ

              ระบบการศึกษาของประเทศไทยได้มีความพยายามในการปฏิรูประบบการศึกษาของชาติ โดยเริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2542 จนกระทั่งปัจจุบัน จากเอกสารเผยแพร่ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ โดยศาสตราจารย์ ดร.เกษม วัฒนชัย ท่านองคมนตรี ได้กล่าวไว้โดยสรุปว่า " การปฏิรูปการศึกษามิไช่กำลังเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะประเทศต่าง ๆ ล้วนตระหนักดีว่า ความเข้มแข็งและความมั่นคงของประเทศ มาจากการพัฒนาศักยภาพคนในชาติ และจะพัฒนาคนจะต้องอาศัยระบบการศึกษาที่ครอบคลุม เข้มแข็ง มีคุณภาพ และโดยประชาชนมีส่วนร่วม " 
              นอกจากนี้แล้วในเอกสารการปฏิรูปการศึกษาไทย ฉบับนี้ยังได้กล่าวถึง ความรู้และเทคโนโลยี กล่าวคือ มนุษย์สร้างความรู้จากประสบการณ์ตรง และจากการลองถูกลองผิด ทั้งนี้ โดยปัจเจกบุคคล โดยกลุ่ม หรือโดยชุมชนจนเกิดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งฝ่ายตะวันตกและ ฝ่ายตะวันออก โดยมนุษย์ได้นํากระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์วิจัยปรากฏการณ์ หรือประสบการณ์ หรือพื้นความรู้เดิมจนเกิดเป็นศาสตร์สาขาต่าง ๆ 
              กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้ทําให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทางตะวันตกได้รับการพิสูจน์วิจัยจนกลายเป็นศาสตร์สากล แพร่หลายและยอมรับกันทั่วไป หากชาวตะวันออกจะได้นํากระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์วิจัยภูมิปัญญาท้องถิ่นฝ่ายตนบ้าง ก็เชื่อว่าจะเกิดศาสตร์ความรู้เชิงสากลได้ เช่นเดียวกัน ดังที่ได้กระทํามาบ้างแล้วในบางประเทศมนุษย์นําความรู้มาใช้งาน 
              เทคโนโลยีคือวิธีหรือรูปแบบของการประยุกต์ความรู้ เพื่อนํามาทํางานให้มนุษย์ หากต้องการจะเพิ่มพูนความรู้ใหม่ในสังคม สังคมนั้นก็ต้องจัดการศึกษาและฝึกอบรมให้ ทุนความรู้ มีมากที่สุด เท่าที่จะทําได้ เมื่อทุนความรู้มีมาก โอกาสที่คนในสังคม คนในชาตินั้นจะสร้าง ความรู้ใหม่ ก็มีมากขึ้นตามไปด้วยส่วนการสร้างเทคโนโลยีต้องอาศัยฐานความรู้ที่มากและรอบด้าน รวมทั้งต้องทําให้คนในสังคม คิดเป็น คือมีจินตนาการและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ 
              เมื่อเป็นเช่นนี้จะทําให้คนในสังคมยิ่งรู้วิธีประยุกต์ความรู้ คือ พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องและหลากหลายระบบการศึกษาจึงจําเป็นต้องวางแผนเพื่อให้โอกาสและเพื่อลงทุนทางการศึกษาให้กว้างขวางที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้ เรียนรู้และคิดเป็น และในที่สุดต้องเน้นการอบรมทางศาสนาและศีลธรรม เพื่อให้เขา มีคุณธรรมและคิดดี ด้วย

              เป้าหมายของการแสวงหา สรรค์สร้าง และเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยี จึงเป็นไปเพื่อ 
(1) เพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน 
(2) ประโยชน์และการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ 
(3) อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้อิทธิพลและผลกระทบของกระแสโลกาภิวัฒน์และระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ไปทั่วโลกการคมนาคมและการสื่อสาร โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศได้พัฒนาจนถึงขั้นที่ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีเรียนรู้และวิถีดํารงชีวิตของประชาชนในหลายประเทศ และขณะนี้กําลังเป็นเครื่องมือสําคัญในการพัฒนาศักยภาพของประชาชนในอีกหลายๆ ประเทศ 

            ระบบการศึกษาไทยต้องปรับตัวอย่างมาก เพื่อรับภาระในการใช้ระบบสารสนเทศ เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาไปยังชนบทและไปยังผู้ด้อยโอกาสในปัจจุบันอย่างเร่งด่วน ประเทศไทยได้ผ่านการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่มาแล้ว โดยพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปในครั้งนั้นมีทั้งปัจจัยภายนอก และปัจจัยภายในประเทศ รวมทั้งสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ท่าน 
              ในภาวะปัจจุบัน ประเทศเรากําลังอยู่ในช่วงของการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ภายใต้กระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายทั้งภายนอกและภายในประเทศ ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ คงไม่ใช่แค่การทุ่มเททรัพยากร ที่มุ่งตรงไปยังผู้เรียน เท่านั้น หากแต่คงต้องมองถึงการพัฒนาทั้งระบบตั้งแต่ นโยบายของประเทศ หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการศึกษา สถานศึกษาซึ่งประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้สอน ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษาทุก ๆ ฝ่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น